CSR

10 ทางเลือก ‘เลิก’ ใช้พลาสติก เพื่อ ‘รักษ์’ โลก

เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา หากใครติดตามข่าวสารผ่านนิตยสารหรืออินเทอร์เน็ตอยู่เป็นประจำ คงจะได้เห็นภาพของก้อนน้ำแข็งใหญ่กลางมหาสมุทรบนปกนิตยสารสารคดี National Geographic ฉบับเดือนพฤษภาคม ที่เมื่อมองให้ดีจะเห็นว่าก้อนน้ำแข็งก้อนนั้นคือถุงพลาสติกต่างหากที่ลอยอยู่กลางมหาสมุทร สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาพลาสติกที่ทั่วโลกควรจะหันมามอง กระทั่งตอกย้ำด้วยโปรยปกสั้นๆ ว่า

“Plastic or Planet? 18 billion pounds of plastic ends up in the ocean each year. And that’s just a tip of the iceberg.” (หนึ่งแสนแปดพันล้านปอนด์ คือน้ำหนักของขยะพลาสติกที่ไหลลงสู่ทะเลในแต่ละปี และนั่นคือส่วนหนึ่งของปัญหาที่เกิดขึ้นเท่านั้น) ที่ตอกย้ำลงไปจังๆ ว่าถึงเวลาที่เราควรเริ่มลงมือทำอะไรสักอย่างอย่างจริงจังเสียที

เราเริ่มเห็นแคมเปญรณรงค์การเลิกใช้ถุงพลาสติกและหลอดพลาสติกจากองค์กรเพื่อสังคม เพื่อต้องการให้ทุกคนตระหนักถึงปัญหา รวมถึงผู้ประกอบการในเครือห้างสรรพสินค้าเจ้าใหญ่อย่าง The Mall Group และ Central Group จัดโปรโมชั่นพิเศษสำหรับผู้ที่นำถุงผ้ามาเอง หรือแม้กระทั่งแจกหลอดสเตนเลสให้กับบุคคลทั่วไปเพื่อทดแทนการใช้หลอดพลาสติก เหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของการตื่นตัวต่อ ‘กระแส’ ต่อต้านการใช้พลาสติก ที่หากสัตว์ทะเลในมหาสมุทรพูดได้ คงอยากให้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืนแทนที่จะเป็นแค่กระแสเพียงชั่วครู่ชั่วคราว

จึงเป็นที่มาของ ที่ต้องการส่งต่อข้อความเกี่ยวกับการเลิกใช้พลาสติกให้ยังเป็นที่พูดถึงต่อไปเรื่อยๆ เริ่มตั้งแต่การตั้งใจเก็บขยะพลาสติกของพนักงานออฟฟิศทุกคนเป็นเวลา 1 สัปดาห์ และนำมาใช้ถ่ายแฟชั่นทั้งบนปกและด้านในก่อนนำไปบริจาคเพื่อรีไซเคิลต่อ เพื่อต้องการให้เห็นว่า นี่แค่ออฟฟิสเดียวกับเวลาแค่ 1 สัปดาห์ เราได้ขยะมากขนาดไหน? รวมถึงพูดคุยกับหลายๆ ภาคส่วนคนทำกิจกรรมเกี่ยวกับการเลิกใช้พลาสติก รวมถึงการมองปัญหาขยะโดยรวมที่ไม่ใช่แค่เฉพาะพลาสติก ทำความเข้าใจแนวคิดแบบ Circular Economy หรือเศรษฐกิจแบบหมุนเวียน และการทำความเข้าใจเรื่องการใช้พลังงานทดแทน จนเกิดเป็น 10 Ways to Save The World ที่เราสามารถเลือกทำเพื่อรักษาโลกของเราให้ปลอดจากภาวะขยะล้นโลกได้ เพราะสุดท้ายการรณรงค์ทุกอย่างที่เกิดขึ้นมันจะไม่มีประโยชน์อะไรหากทุกคนยังมองไม่เห็นว่าการกระทำของเราในแต่ละวันมันส่งผลกระทบต่อปัญหาระดับโลกอย่างไร และมันคงไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้เลยหากทุกคนไม่ร่วมมือกันเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่างนั่นจริงๆ สักที

1. Reduce and Reuse: Say No to Plastic

นอกเหนือจากสถิติเกี่ยวกับขยะพลาสติกในประเทศไทยแล้ว สิ่งที่น่าสนใจที่สุดอย่างหนึ่งซึ่งเราควรมองย้อนกลับมา นั่นก็คือความจริงที่ว่า เทคโนโลยีการผลิตพลาสติกนั้นเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่ถึง 100 ปีที่ผ่านมาเท่านั้น สำนักข่าว BBC รายงานว่า นักวิทยาศาสตร์สหรัฐพบว่าตั้งแต่โลกผลิตพลาสติกเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมการบริโภค หรือคำนวนคร่าวๆ ราว 60-70 ปีที่ผ่านมานั้น โลกเราผลิตพลาสติกไปแล้วกว่า 8.3 พันล้านตัน ซึ่งครึ่งหนึ่งถูกผลิตขึ้นในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา และหากเรายังมีความต้องการใช้พลาสติกและผลิตที่อัตราเท่าเดิม เราจะมีขยะพลาสติกรวมกันถึง 12,000 ล้านตัน ภายในปี 2050 (อ้างอิง: งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยจอร์เจีย และ bbc.com)

เราชินกับการถูกสอนเรื่องการ Recycle สิ่งของเหลือใช้มาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก ซึ่งอีกหนึ่ง Re- ที่สำคัญไม่แพ้กันและเป็นการเริ่มต้นที่ง่ายที่สุดนั้นคือ Reduce หรือการลดการใช้พลาสติกที่เราใช้อยู่ในแต่ละวัน เพราะที่ผ่านมาการพูดถึงนโยบายการ Recycle พลาสติกนั้นเป็นการแก้ปัญหาจากฝั่งอุปทาน (Supply) ของตลาดเท่านั้น ซึ่งจะยั่งยืนได้หากเราลดอุปสงค์ (Demand) ของการใช้พลาสติกตามกันไปด้วย

พลาสติกเป็นวัสดุที่ทนทานและสะดวกสบายก็จริง อย่างหนึ่งที่ต้องเข้าใจตรงกันก่อนคือ ในชีวิตประจำวันเราหลีกเลี่ยงได้ลำบากหากจะไม่เจอพลาสติกเลย สิ่งที่ควรลดคือพลาสติกที่เราเรียกมันว่า พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง (Single Use Plastic) เช่นถุงพลาสติกและหลอดพลาสติก เพราะหลังจากการใช้งานมีแนวโน้มที่จะกลายเป็นขยะทันที ซึ่งยืนยันได้จากตัวเลขสัดส่วนขยะในทะเลนั่นเอง ที่สัดส่วนก้อนใหญ่ที่สุดตกเป็นของเฉพาะถุงพลาสติก

องค์กร Zero Waste Europe ภายใต้การสนับสนุนเงินทุนจากสหประชาชาติร่วมมือกับหลายๆ ภาคส่วน จัดตั้ง International Plastic Bag Free Day หรือวันงดใช้ถุงพลาสติกโลก ขึ้นในวันที่ 3 กรกฎาคมของทุกปี ซึ่งในปี 2561 นี้ถือเป็นปีที่ 9 ของการร่วมรณรงค์ โดยมีจุดประสงค์เพื่อต้องการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับปัญหาจากขยะพลาสติกที่มีปริมาณมากและสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงการส่งต่อแนวคิดและความเชื่อที่ว่าเราจะสามารถไปถึงจุดที่สร้าง Zero Waste จากพลาสติกได้ หากเราเลือกที่จะใช้ภาชนะทางเลือก (alternative container) และปฏิเสธการใช้พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียว (Single-Use Plastic) (อ้างอิง: www.plasticbagfreeday.org )

ซึ่งในปีนี้ ห้างสรรพสินค้าหลายๆ แห่งของไทยอย่างเครือ The Mall Group รวมถึง Tops และ Central Food Hall ก็ออกมาประกาศงดแจกถุงพลาสติกเพื่อร่วมรณรงค์เรื่องการใช้ถุงพลาสติกในวันนี้ รวมถึงนโยบายในระยะยาวเพื่อร่วมรณรงค์ให้คนไทยหันมาพกถุงผ้าไปช้อปปิ้ง หรือการเลือกปฏิเสธการขอถุงพลาสติกเวลาไปซื้อของอีกด้วย และถ้าหากมีความจำเป็นต้องใช้ถุงพลาสติกจริงๆ อย่างน้อยที่สุดการนำกลับมาใช้ใหม่เรื่อยๆ (Reuse) ไม่ว่าจะเป็นกับถุงพลาสติก แก้วกาแฟ หลอด เพื่อลดความต้องการใช้ในครั้งถัดไป ก็ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีเช่นกัน

2. Find the Alternative Container

เมื่อสิ่งแรกที่ต้องทำคือ การลดความต้องการใช้ถุงพลาสติกและนำถุงพลาสติกเก่ามาใช้ใหม่ สิ่งถัดมาที่ง่ายและทำได้แบบไม่ต้องอธิบายมากคือ การหาภาชนะอื่นๆ ทดแทนการใช้ถุงพลาสติก ง่ายที่สุดที่เชื่อว่าทุกคนเคยได้ยินกันอยู่แล้ว นั่นก็คือการใช้ ‘ถุงผ้าลดโลกร้อน’ สโลแกนที่ฮิตต่อเนื่องในบ้านเราอย่างยาวนาน ซึ่งได้มาจากการโยงให้เห็นสายพานการเกิดของปัญหาว่า ถุงพลาสติกย่อยสลายยากและต่อให้การเผาไหม้ทำลายได้ แต่นั่นก็เท่ากับก่อให้เกิดสารพิษที่ทำลายชั้นโอโซน ส่งผลทำให้โลกร้อน เพราะฉะนั้นการใช้ถุงผ้าเพื่อลดขยะพลาสติก ก็เท่ากับลดโลกร้อนนั่นเอง ซึ่งนอกจากถุงผ้าแล้ว การหา Alternative Container หรือบรรณจุภัณฑ์ทางเลือก ยังรวมไปถึงกล่องบรรจุภัณฑ์ที่ทำจากชานอ้อย กระดาษ ใยไผ่ ไบโอพลาสติก (แป้ง โปรตีนจากถั่ว ข้าวโพด) หรือมันสำปะหลัง ที่เราเริ่มหาได้ทั่วไปตามร้านค้าที่นำมาใช้แทนกล่องโฟม

ซึ่งความพยายามหาวัสดุทดแทนนี้เองทำให้ทุกวันนี้เรามีนวัตกรรมทดแทนใหม่ๆ มากมาย เช่น เราจะเห็นร้านอาหารและบาร์หลายๆ ที่เริ่มรณรงค์การไม่แจกหลอดพลาสติก (รวมถึงยักษ์ใหญ่อย่าง Starbucks ก็ออกมาประกาศในวันที่ 9 กรกฎาคมที่ผ่านมาว่า จะงดใช้หลอดพลาสติกใน 28,000 สาขาทั่วโลกให้ได้ภายในปี ค.ศ.2020 นี้ — ที่มา: www.npr.org) แต่จะใช้หลอดสเตนเลส หลอดไม้ไผ่ หรือหลอดกระดาษ ที่ล้างเก็บทำความสะอาดได้หรือย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติมาเป็นทางเลือกแทน อย่างร้านอาหารรักสุขภาพ Broccoli Revolution ที่เริ่มต้นจากการเสิร์ฟก้านผักบุ้งแทนหลอด ซึ่งลูกค้าสามารถเลือกหลอดอื่นๆ อย่างหลอดสเตนเลส หลอดแก้ว และหลอดไม้ไผ่ก็ได้ รวมถึงซื้อกลับบ้านเอาไว้พกติดตัวก็ย่อมได้เช่นกัน (สุขุมวิท ซอย 49 โทร. 09-5251-9799 www.facebook.com/broccolirevolution)

Better Moon café x Refill Station คือคาเฟ่หน้าตาน่ารักย่านอ่อนนุช ที่ต้องการส่งเสริมและรณรงค์สร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับเรื่องของขยะในเมือง ซึ่งนอกจากตัวคาเฟ่จะมีฟังก์ชั่นหลากหลาย ทั้งคาเฟ่และห้องพักแล้ว ไฮไลต์ของที่นี่คือการจำหน่ายสบู่ แชมพู น้ำยาต่างๆ ในรูปแบบที่ให้ผู้ซื้อพกขวดเก่ามาเติมเอง หรือหากไม่ได้พกขวดมาคุณสามารถใช้ขวดที่ทางร้านรับบริจาคจากลูกค้าที่ไม่ใช้แล้วเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ได้เรื่อยๆ รวมถึงยังมีผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่ทำจากวัสดุทางเลือกอย่างหลอดสเตนเลส แปรงสีฟันไม้ไผ่ และสบู่ก้อนทำมือ ให้เลือกซื้อ และเป็นการบอกให้ทุกคนรู้ว่า หากเราต้องการจะลดขยะจากการใช้ชีวิตประจำวันนั้น มันเป็นไปได้จริง (สุขุมวิท ซอย 77/1 โทร. 093-563-2265 www.facebook.com/bettermoonshop)

3. Recycle Everything You Can

อีกหนึ่งคำคลาสสิกถัดมาคือการรีไซเคิลทุกสิ่งทุกอย่างที่คุณทำได้ เพื่อเป็นการลดความต้องการสินค้าใหม่ สิ่งที่เพิ่มมากกว่าการรีไซเคิลแบบปกติทั่วไปคือ ในแนวความคิดแบบ Circular Economy หรือระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนนั้น การ ‘นำกลับมาใช้ใหม่’ ที่เดิมทีเราเรียกมันเหมารวมว่ารีไซเคิลนั้นถูกแบ่งออกเป็น 3 ลักษณะ คือ Recycle หรือการนำกลับมาใช้ใหม่โดยคุณภาพไม่ลดลง ซึ่งตามความหมายของเศรษฐกิจหมุนเวียนนั้น จะหมายถึงประเภทแก้ว หรืออะลูมิเนียม ที่เมื่อนำกลับมาหลอมและหล่อเป็นชิ้นใหม่นั้นยังได้คุณภาพที่เทียบเท่าเดิม, Downcycle หรือการนำกลับมาใช้ใหม่โดยคุณภาพลดลง ซึ่งเท่ากับพลาสติกส่วนใหญ่ที่มีในปัจจุบัน และ Upcycle หรือการนำกลับมาใช้ใหม่ที่เพิ่มฟังก์ชั่นมากกว่าเดิม ซึ่งจะอธิบายแยกเป็นข้อๆ ไป แต่สำหรับข้อที่ 3 นี้เราพูดถึงการรีไซเคิลในบริบทเดิมที่ว่าด้วยการคิดหยิบทุกสิ่งกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งนั่นรวมไปถึงการเลือกทิ้งสินค้าพลาสติกให้ถูกวิธีด้วย

นอกจากถังแยกขยะตามห้างสรรพสินค้าแล้ว ปีนี้เห็นที่จะมีแต่ Refun Vending Machine เท่านั้นที่เป็นสิ่งใหม่มาเพิ่มความสะดวกสบายในการแยกขยะพลาสติกให้ทุกคนทำได้ง่ายขึ้น เจ้าเครื่องนี้มากับคติพจน์ชัดเจนๆ ว่า “Only Wasted Time Cannot Be Recycled (มีแค่เวลาที่เสียไปแล้วเท่านั่นแหละที่นำกลับมาใช้ใหม่ไม่ได้!)” ซึ่งตู้นี้ทำหน้าที่ในการรับขวดพลาสติก หรือกระป๋องอะลูมิเนียมที่เราใช้แล้วกลับคืนไปสู่ระบบเพื่อให้ทางบริษัทนำไปใช้ซ้ำต่อไป โดยวิธีการใช้งานคือแค่คุณนำขวดพลาสติกหรือกระป๋องอะลูมิเนียมหยอดลงในตู้ ตู้ก็จะตรวจสอบชนิดและคำนวณเป็นเงินออกมาคืนให้คุณ ถือว่าใช้งานง่าย มีประโยชน์ แถมยังส่งเสริมให้คนเก็บขวดพลาสติกและทิ้งให้ถูกต้องจากการจ่ายคืนกลับมาเป็นเงินอีกด้วย (อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ refun.com)

ต้อง Why Not? คือโครงการที่จัดทำขึ้นโดยอาจารย์และนิสิตจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สาขาวิชาการออกแบบสถาปัตยกรรม หลักสูตรนานาชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งในโครงการนี้จะพูดถึงการแปรรูปพลาสติกที่ใช้แล้วในระดับครัวเรือนให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ชิ้นใหม่ที่ใช้ได้ รวมถึงไปจัดกิจกรรมกับน้องๆ นักเรียนในย่านเจริญกรุง และจัดงานนิทรรศการขึ้นในเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาอีกด้วย คล้ายๆ งาน DIY ที่เราเคยเห็นเป็นคลิปจากยูทู้บ แต่ความน่ารักของนิทรรศการนี้คือเราสามารถดาวน์โหลด ‘Cook Book’ หรือหนังสือให้ความรู้เกี่ยวกับพลาสติก รวมถึงวิธีการแปรรูปพลาสสติกในบ้านเป็นของใช้อื่นได้ผ่านทาง www.facebook.com/chowhybkk อีกด้วย

4. There’s a Thing Called Downcycle

เหตุผลข้อหนึ่งที่เมื่อพูดถึงการรีไซเคิลแล้วเราจะนึกถึงภาพของการเอาขวดน้ำมาทำกล่องใส่ดินสอเท่านั้น อาจเป็นเพราะว่าการนำพลาสติกกลับมาแปรรูปเป็นอย่างอื่นเพื่อใช้งานจริงๆ นั้นเกิดขึ้นในต้นทุนที่สูงมาก ซึ่งนั่นจึงตกเป็นหน้าที่ของบริษัทผู้ผลิตขวดน้ำ หรือบริษัทน้ำมันรายใหญ่ที่สามารถใช้วิธีการให้ความร้อนเพื่อแปรรูปพลาสติกกลายเป็นเม็ดพลาสติกและนำไปหลอมเป็นสิ่งใหม่ได้ (เช่นพลาสติก PET และ PE) ในที่นี้อย่างที่เกริ่นไปว่า นิยามของการ Recycle ตามแบบเศรษฐกิจหมุนเวียนนั้นเท่ากับผลิตภัณฑ์ใหม่ต้องมีคุณสมบัติเทียบเท่าเดิม แต่การแปรรูปพลาสติกแบบนี้กลับให้ผลลัพธ์ที่คุณภาพไม่เท่าเดิม ซึ่งกรณีนี้คือการกระทำที่เรียกว่า Downcycle

ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือการเก็บขวดพลาสติกเก่าไปหลอมให้เกิดขวดพลาสติกขุ่นที่ราคาถูกลง แต่นอกเหนือจากนั้นยังมีการแปรรูปพลาสติกให้กลายเป็นเสื้อใยเพื่อใช้นำไปทอเป็นเสื้อผ้า อย่างเส้นใยโพลีเอสเตอร์ เป็นต้น ซึ่งขั้นตอนนี้ก็ยังถือเป็นการใช้วัสดุให้คุ้มค่าอยู่ เพียงแต่จะทำเกิดผลลัพธ์ที่กลับมาใช้อีกครั้งได้ยากขึ้น และก็กลายเป็นขยะในที่สุด ทั้งนี้จำนวนครั้งในการนำกลับมาแปรรูปซ้ำขึ้นอยู่กับพลาสติกแต่ละชนิด

5. And Also Upcycle

จริงๆ แล้วคำว่าอัพไซเคิลนั้นอาจจะเป็นคำที่ฟังดูใหม่ในข่าวจากการพัฒนาแนวความคิดแบบเศรษฐกิจหมุนเวียนนั่นแหละ แต่ถ้าหากคุณเป็นแฟนแบรนด์แฟชั่นรักโลกสัญชาติเยอรมันอย่าง Freitag คุณน่าจะคุ้นชินกับสิ่งนี้อยู่แล้วเป็นอย่างดี

การนำกลับมาใช้ใหม่แบบอัพไซเคิลนั้นมีความสร้างสรรค์ตรงที่ว่าเป็นการนำกลับมาใช้ใหม่ด้วยวิธีการหาฟังก์ชั่นใหม่ให้กับสิ่งที่เป็น Waste เหล่านั้น ซึ่งมาถึงตอนนี้เราไม่ได้พูดจำกัดอยู่ตรงแค่พลาสติกอีกต่อไป เพราะอะไรก็ตามที่ย่อยสลายยาก หรือยัง ‘เกิดมาแล้วใช้งานได้ไม่คุ้มค่า’ นั้นก็สามารถนำมาสร้างให้เป็นสิ่งใหม่ได้เสมอ เป็นการปลูกฝังแนว

ความคิดเกี่ยวกับการลดขยะอีกอย่างหนึ่งว่า วิธีการลดขยะก็คือการใช้ทรัพยากรทุกชนิดให้คุ้มค่าที่สุดก่อนปล่อยให้มันกลายไปเป็นขยะนั่นเอง

ซึ่งจากที่เมื่อพูดถึงหลักการของเศรษฐกิจหมุนเวียนไปนั้น การจำแนกการนำกลับมาใช้ให้หลากหลายและเกิดประโยชน์จริงแบบนี้สามารถทำให้เรามองปัญหาได้กว้างขึ้นอีกนิดในแง่ของการเลือกกำจัด เช่น เราอาจจะเลือกวิธีการอัพไซเคิลสำหรับวัสดุหรือพลาสติกที่ย่อยสลายไม่ได้เลย เพราะแทนที่จะทิ้งมันไปก็เลือกใช้สิ่งนั้นมาสร้างสินค้าใหม่แทนเป็นต้น

6. Don’t Waste Your Food

จากสถิติที่เรายกขึ้นมาเมื่อตอนต้นว่าสัดส่วนของขยะพลาสติกที่เกิดขึ้นในประเทศไทยนั้นกินสัดส่วนถึงร้อยละ 20 ของปริมาณขยะมูลฝอยทั้งหมด ความจริงอีกด้านหนึ่งก็คือ กว่าร้อยละ 50 นั้นตกเป็นของขยะที่้เราเรียกว่าขยะอินทรีย์ หรือขยะที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมอาหารนั่นเอง ซึ่งมาถึงตรงนี้ที่แนวความคิดแบบ Circular Economy ไม่ได้มุ่งจำกัดเฉพาะขยะประเภทใดประเภทหนึ่งเท่านั้น สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างที่กำลังเกิดเป็นกระแสทั่วโลกเช่นเดียวกันก็คือการสร้างความตระหนักรู้รวมถึงวิธีการแก้ปัญหา และลดขยะที่เกิดจากอาหาร (Food Waste) อย่างยั่งยืน (ที่มา: http://www.pcd.go.th/Info_serv/File/PPT20161130/20161130_19.pdf)

เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมามีงานสัมมนาเรื่องเกี่ยวกับขยะในอุตสาหกรรมอาหารที่พูดถึงหัวข้อนี้ถึงสองงาน เริ่มจากงานเสวนาเรื่อง “วิกฤตขยะอาหาร: ความจริงที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออก (Food Waste: an Unpalatable Truth)” จัดโดยเทสโก้ โลตัส และสำนักข่าวไทยพับลิก้า ในวันที่ 20 มีนาคมที่ผ่านมา โดยภายในงานชี้ให้เห็นถึงสถิติโลกที่น่าสนใจว่า
“1 ใน 3 ของอาหารจากทั่วโลกถูกทิ้งกลายเป็นขยะ ในขณะที่ 11% ของประชาการโลกกำลังต่อสู้กับความอดอยาก (ที่มา: thaipublica.org) ซึ่งขยะที่เกิดขึ้นส่งผลกลายเป็นก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยสู่บรรยากาศโลก”

ถัดมาคืองาน {Re} Food Forum ว่าด้วยเรื่องของ Sustainability in Food Industry ซึ่งจัดขึ้นในช่วงเวลาใกล้กัน คือ 19-20 มีนาคม นำโดยเชฟโบ-ดวงพร ทรงวิศวะ เชฟเจ้าของร้านอาหารไทย Bo.lan ซึ่งก่อนหน้าที่งานจะจัดขึ้น GQ ได้มีโอกาสคุยกับเชฟโบเกี่ยวกับเรื่องขยะที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมอาหาร และเชฟโบได้เล่าให้ฟังถึงกระบวนการที่ใช้กับทางร้านว่า ปณิธานตั้งแต่แรกเริ่มของโบลานคือการทำร้านอาหารที่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกน้อยที่สุด ซึ่งนั่นเท่ากับการลงลึกถึงแหล่งเลี้ยงแหล่งผลิตของวัตถุดิบแต่ละชนิดว่าจะต้องไม่ใช้สารเคมี ซื้อปลาจากชาวบ้านที่มีการทำประมงยั่งยืน การลดแพ็กเกจจิ้งที่เกิดขึ้นระหว่างขนส่ง โดยทางร้านจะนำแพ็กเกจจิ้งไปเองเพื่อไม่ก่อให้เกิดขยะ รวมถึงการหมุนเวียนทรัพยากรภายในร้าน เช่นการนำน้ำมันที่เหลือจากการประกอบอาหารมาทำเป็นสบู่ล้างมือเพื่อใช้ในร้าน

ซึ่งนอกจากกิจกรรมที่เชฟโบทำขึ้นในร้านจะเป็นเหมือนภาคปฏิบัติของสิ่งที่งาน {Re} Food Forum พูดถึงในงานแล้ว หนึ่งกิจกรรมที่เชฟไทยร่วมกันทำอีกอย่างที่น่าสนใจมากคือ การนำ Food Waste จากมื้อเย็นหลังเสวนาวันแรกจบลง มาประกอบเป็นมื้อกลางวันของงานเสวนาวันถัดไป เป็นการแสดงออกถึงการใช้วัตถุดิบให้คุ้มค่า ที่ชวนให้นึกถึงการทำกับข้าวแบบ Home Cooking ในสมัยก่อนที่หากใครโตมากับครอบครัวที่ทำกับข้าวเองแล้วละก็ น่าจะมีคุณพ่อคุณแม่ ที่ใช้เทคนิคนี้อยู่บ่อยๆ เป็นแน่

ภาพตัดมาเมื่อพูถึงการจัดการระบบทรัพยากรในร้านอาหารอย่างยั่งยืน คำว่า Farm-to-Table กลับกลายเป็นคำตอบชอบเชฟหลายๆ คน เช่นเชฟและเจ้าของร้านชาวอินเดีย Deepanker “DK” Khosla แห่งร้าน Haoma ที่สร้างระบบนิเวศเล็กๆ บริเวณสวนหน้าร้านที่ปลูกพืชผักสด รวมถึงบ่อปลาที่ทำหน้าที่กำจัดเศษอาหารที่นำไปแปรรูปเป็นอาหารปลาและนำมาปลามาใช้ประกอบอาหาร รวมถึงการหมักดองของต่างๆ เพื่อเป้าหมายที่ต้องการเป็นร้านอาหาร Zero Waste ร้านแรกให้ได้

เช่นเดียวกับร้านอาหารทะเล Vapor แห่งหมู่บ้านนิชดาธานี ของตั้ม-ณัฐกร แจ้งเร็ว อดีตบาร์เทนเดอร์ (ที่ก็ยังจับเชคเกอร์อยู่เป็นครั้งคราว) ที่ด้วยความเป็นคนชอบตกปลาเอาซะมากๆ จึงหันมาเอาดีทางด้านการตกปลาและออกแบบร้านอาหารแบบ Zero-Waste ที่ตั้มควบคุมเองตั้งแต่การออกไปหาวัตถุดิบ ขนส่ง มาจนถึงการใช้พื้นที่ภายในหมู่บ้านทำสวนผัก สมุนไพร รวมถึงทำฟาร์มไก่เลี้ยงแบบปล่อย (Free Range Chicken) ทั้งหมดทั้งมวลเพื่อให้เกิดการหมุนเวียนของอาหาร จากอาหารเหลือเวียนเป็นปุ๋ยและอาหารสัตว์ ลดการใช้แพกเกจจิ้งแบบ Single Use ด้วยการลำเลียงขนส่งด้วยตัวเอง กลายเป็นอีกหนึ่งร้านที่สามารถลดการเกิดขยะได้ใกล้เคียงศูนย์ที่สุดอีกร้านหนึ่ง (ซึ่งนอกจาก Vapor แล้ว ตั้มยังวางแผนทำร้านอาหารสไตล์ Chef’s Table ร้านใหม่อีกด้วย ซึ่งสามารถติดตามรีวิวร้านฉบับเต็มได้เร็วๆ นี้)

Sustainability เป็นถือเป็นหัวข้อที่ไม่ใช่แค่เป็นที่พูดถึงในวงการอาหารอย่างเดียวเท่านั้น แต่ในวงการบาร์เทนเดอร์ก็มีแนวโน้มไปในทางเดียวกัน เราจะเห็นกันอยู่เรื่อยๆ ว่าเทรนด์เครื่องดื่มในปัจจุบันนี้แทบจะแยกไม่ออกกับอาหาร นั่นก็เป็นเพราะว่าเมื่อโลกหันมาให้ความสนใจวัฒนธรรม Fine Drinking มากขึ้น ทำให้เหล่าบาร์เทนเดอร์ผสมผสานเทคนิคการครัวมาปรุงให้ค็อกเทลแก้วคุ้นรสดีขึ้นกว่าเคย ซึ่งในบาร์เองก็เกิดขยะไม่ต่างจากร้านอาหาร ในปีนี้เราเห็นกลุ่มบาร์เทนเดอร์ออกมาเคลื่อนไหวรณรงค์เรื่องการไม่ใช้หลอดพลาสติก (เพราะถือเป็นขยะพลาสติกที่เกิดขึ้นมากที่สุดจากบาร์) พร้อมให้ความรู้ต่างๆ ในนาม Siam Strawless (สามารถติดตามข่าวได้ทาง www.facebook.com/siamstrawless) เปลี่ยนมาไม่แจกหลอดเลยหรือใช้หลอดทางเลือก แต่นั่นก็ยังไม่ใช่ทั้งหมด

GQ Thailand ได้คุยกับกอล์ฟ-กิติบดี ช่อทับทิม จาก Back Stage Cocktail Bar และโจอี้-กฤษ ประกอบดี จาก Tropic City สองบาร์เทนเดอร์และสองผู้เข้าแข่งขันรายการ Diageo World Class 2018 ซึ่งหนึ่งใน 4 จากโจทย์รอบสุดท้ายคือภารกิจการสร้างารรค์ค็อกเทลภายใต้ธีม Thai Eco & Sustainability ซึ่งไม่ใช่แค่เฉพาะการแข่งขัน แต่ในทุกๆ วันของการทำงาน ทั้งสองบาร์เทนเดอร์ที่ถนัดเรื่องการถนอมอาหารและการหมักดองอยู่แล้ว โดยการมองให้วัตถุดิบ 1 ชนิด สามารถใช้งานได้มากกว่า 1 ประโยชน์ รวมถึงการศึกษาว่าอะไรคือขยะที่แท้จริงที่เกิดขึ้นในบาร์ และหาวิธีการแก้ไขปัญหากับมัน (อ่านเรื่องของการหมักดองเพื่อลดขยะของทั้งสองบาร์เทนเดอร์ได้ในคอลัมน์ Ferment is the New Black หน้า TK)
มาถึงตรงนี้แล้ว จะเห็นได้ว่าการลดขยะประเภทที่เป็นอาหารนั้นทำได้อย่างสร้างสรรค์และหลากหลายไม่ต่างอะไรกับขยะชนิดอื่น คีย์สำคัญอยู่ที่การศึกษาวิธีการเพื่อใช้ประโยชน์จากวัตถุดิบ 1 ชนิด ให้ใช้ได้มากกว่า 1 ประโยชน์ เท่านั้นเอง

7. Redistribute: Our Waste Might Worth for Someone

มาถึงตรงนี้เราไม่อยากให้ติดกับภาพว่า ‘ขยะ’ หมายถึงของสกปรกเน่าเสียซะทีเดียว เพราะนิยามของคำว่าขยะในตอนนี้นั่นหมายถึงสิ่งที่เราอาจจะไม่เป็นที่ต้องการ นำกลับมาใช้ประโยชน์ที่เราต้องการไม่ได้ ซึ่งเหล่านั้นไม่ได้หมายความว่าจะต้องเป็นของเหลือของเสีย บางครั้งขยะก็มาในรูปแบบของสิ่งที่เราไม่ได้ใช้ประโยชน์แต่อาจจะมีประโยชน์กับคนอื่นมากกว่า

เช่นเดียวกับการรับบริจาคถุงผ้าตามโรงพยาบาล ที่มีเพื่อจุดประสงค์ต้องการลดใช้ถุงพลาสติกอีกที และเมื่อคุณมีถุงผ้ามากเกินไปจนไม่ได้ใช้งาน แทนที่จะปล่อยถุงผ้านอนอยู่บ้านเฉยๆ ก็นำมาบริจาคให้แพทย์ใช้จ่ายยาให้ผู้ป่วยกลับบ้านไม่ดีกว่าหรือ

8. Segregate Your Waste

การแยกขยะเป็นอีกหนึ่งข้อสำคัญที่หากเมื่อพูดถึงเรื่องของปัญหาขยะแล้วคงจะไม่พูดถึงไม่ได้ เพราะการแยกขยะก็เป็นอีกหนทางง่ายๆ ที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการจัดการขยะโดยรวม โดยที่ก่อนอื่นเราต้องรู้ก่อนว่าขยะทั้งหมดที่เกิดจากกิจวัตรประจำวันของเรานั้นสามารถแบ่งได้เป็น 4 ประเภทหลักคือ

1. ขยะที่ย่อยสลายได้ (ถังสีเขียว): ขยะประเภทนี้ได้พวกเศษอาหาร ขยะอินทรีย์ที่เกิดจากธรรมชาติ ตามชื่อก็คือสามารถนำไปผ่านกระบวนการทำเป็นปุ๋ยได้ ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ

2. ขยะรีไซเคิล (ถังสีเหลือง): คือขยะที่มาในรูปแบบของวัสดุเหลือใช้ ที่เราอาจจะไม่ใช้แล้วแต่ตัวขยะสามารถถูกนำไปผ่านกระบวนการเพื่อนำกลับมาใช้ได้ใหม่ เช่น แก้ว กระดาษ พลาสติก โลหะ หรือแม้แต่ยางรถยนต์

3. ขยะทั่วไป (ถังสีน้ำเงิน): ขยะประเภทนี้คือขยะประเภทถุงพลาสติก หลอดพลาสติก ซองขนมในประเภทที่ย่อยสลายยากและไม่คุ้มต่อการนำไปรีไซเคิล

4. ขยะอันตราย (ถังสีส้ม): ขยะประเภทนี้คือขยะพิเศษที่จะต้องมีการจัดเก็บแยกเพื่อทำไปทำลายอย่างถูกวิธีเท่านั้น เช่น หลอดไฟ ถ่านไฟฉาย สารเคมี และอื่นๆ ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

ในประเทศที่มีระบบการแยกขยะและจัดเก็บขยะที่เป็นระเบียบนั้น อาจจะมีการแบ่งแยกเก็บขยะแต่ละประเภทเป็นรายวัน ซึ่งหากครัวเรือนและผู้ประกอบการแยกขยะให้ถูกตามประเภทก็จะยิ่งส่งผลให้การทำลาย หรือการนำขยะกลับมาใช้ใหม่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ในสถานการณ์จำลองนั้นเมื่อเทียบกับสถานการณ์บ้านเรา จะเห็นได้ว่าหลายจุดแค่จะหาถังสีให้ครบยังเป็นเรื่องยาก ซึ่งนั่นก็ส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมของคนในสังคมไม่แยกขยะเป็นนิสัย ผลที่ตามมาคือรายงานจากกรมควบคุมมลพิษรายงานว่า ในประเทศมีจุดกำจัดขยะมูลฝอยจำนวน 2,490 แห่ง ซึ่งในจำนวนนี้มีแค่ 466 แห่งเท่านั้นที่ดำเนินการกำจัดขยะอย่างถูกต้อง และนั่นส่งผลให้เรามีกองขยะเหลือตกค้างที่กำจัดไม่สำเร็จ แถมด้วยปริมาณขยะที่มากขึ้นในแต่ละวันนั้นมีอัตราส่วนที่ล้นเกิน ‘คนแยกขยะ’ ไปไกล ทำให้หากเราคิดที่จะแก้ไขปัญหาขยะจริงคงจะต้องแก้กันทั้งระบบ

แต่สิ่งที่ง่ายที่สุดที่ทุกคนสามารถเริ่มต้นได้นั้น คือฝึกแยกขยะให้เป็นนิสัย เพราะอย่างน้อยที่สุดการแยกขยะยังทำให้เราสำรวจการบริโภคของตัวเองในแต่ละวัน ว่าสร้างขยะมากแค่ไหน อะไรบ้างที่อย่างเพิ่งทิ้งเลย และควรนำกลับมาใช้ อีกทั้งยังทำให้การลดการผลิตขยะลดน้อยลงได้อีกด้วย

 (ที่มา: คู่มือแนวทางการลด คัดแยก และใช้ประโยชน์ขยะมูลฝอย จัดทำโดยกรมควบคุมมลพิษ)

9. Know Your Plastic ชนิดของพลาสติก

อีกหนึ่งความรู้ที่เราสามารถนำมาปรับใช้กับพฤติกรรมการบริโภค คือการรู้จักพลาสติกแต่ละชนิดรวมถึงผลกระทบของมันต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม เพราะอย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า การเลิกใช้พลาสติกแบบหักดิบไปเลยนั้นอาจจะเริ่มทำได้ยาก แต่อย่างน้อยเลือกใช้แค่พลาสติกที่รีไซเคิลได้เท่านั้นก็ช่วยโลกได้มากแล้ว

1. PET หรือ PETE (Polyethylene Terephthalate): พลาสติกประเภทนี้เราน่าจะคุ้นกันดีในนามขวด PET หรือคือขวดน้ำต่างๆ ขวดน้ำอัดลม ซอส มีอันตรายปานกลาง แต่สามารถรีไซเคิลได้

2. HDPE (High Density Polyethylene): หรือแกลลอนนม ถุงพลาสติก ขวดแชมพู ขวดน้ำยาล้างจาน มีอันตรายน้อย

3. PVC (Polyvinyl Chloride): ขวดน้ำยาต่างๆ ของเล่น พลาสติกประเภทนี้ส่งผลกระทบที่อันตรายต่อสิ่งแวดล้อมมาก

4. LDPE (Low Density Polyethylene): หรือหลอดยาสีฟัน ถุงขนม ถุงขยะ ประเภทนี้มีอันตรายน้อย

5. PP (Polypropylene): ขวดน้ำยาต่างๆ ฝาขวดน้ำ หลอดพลาสติก แก้วพลาสติก ประเภทนี้มีอันตรายน้อย

6. PS (Polystyrene): แก้วโฟม จานโฟม กล่องโฟม ประเภทนี้มีอันตรายมาก

7. Other: พลาสติดประเภทอื่นๆ ที่ไม่มีชื่อประเภทเฉพาะอย่างแว่นกันแดด กระติกน้ำ ขวดนม ฯลฯ และพลาสติกประเภทนี้ก็อันตรายมากเช่นกัน

ซึ่งพลาสติกทั้ง 7 ประเภทนี้มีคุณสมบัตินำมารีไซเคิลใหม่ได้ทั้งนั้น แต่ต้นทุกการหลอมใหม่นั้นสูง จึงมีแค่ไม่กี่ชนิดอย่าง PET และ PVC ที่นิยมนำมาหลอมใหม่ แต่บางชนิดเช่นถุงพลาสติกนั้น อาจฟังดูเหมือนไม่มีสารพิษต่อสิ่งแวดล้อม แต่การไม่ย่อยสลายของมันกลับก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทางอ้อม อย่างการไปอุดตันในกระเพาะอาหารของสัตว์ทะเลนั่นเอง

 (ที่มา: คู่มือแนวทางการลด คัดแยก และใช้ประโยชน์ขยะมูลฝอย จัดทำโดยกรมควบคุมมลพิษ)

10. Energy of the Future

นอกจากปีนี้งานสัมมนาประจำปี Movin’On Summit by Michelin จะยกเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนขึ้นมาพูดแล้ว อีกหนึ่งหัวข้อที่สำคัญ (และด้วยความที่เป็นบริษัทยานยนต์) คือการหาวิธีการจะทำอย่างไรให้การสัญจรเป็นไปได้อย่างยั่งยืน (Sustainable Mobility) ซึ่งจากสิ่งที่ได้คุยกับคุณท็อป หนึ่งในผู้เข้าร่วมงานสัมมนา เราสามารถสรุปความรู้เพื่อนำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้ออกเป็นสองแง่ เริ่มจากการมองหาวัสดุทดแทนที่ยั่งยืน ข้อนี้ค่อนข้างเป็นข่าวดีด้วยในแง่ของผู้บริโภค เพราะอย่างน้อยเราได้ทราบว่าบริษัทผู้ผลิตยางรถยนต์นั้นมุ่งพัฒนายางที่ทนทานย่อยสลายได้ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่นเดียวกับผู้ประกอบการณ์อื่นๆ เหมือนกับเศรษฐกิจหมุนเวียนจะเป็นทฤษฎีที่ออกมาบอกเราว่า หลังจากที่รู้แล้วว่าพลาสติกชนิดไหนย่อยสลายไม่ได้ ก็ลดการผลิตลงหรือได้เวลาพัฒนาคุณภาพของพลาสติกให้ออกมาแล้วทำลายได้ด้วยในอนาคต

ประเด็นถัดมาคือ การลดการใช้เชื้อเพลิงประเภท Fossil Fuel เช่นน้ำมัน และหันมาใช้พลังงานจากสิ่งทดแทนเช่น นิวเคลียร์ แดด ลม น้ำ แทน ซึ่งนั่นเป็นที่มาของรถยนต์พลังงานไฟฟ้า ที่คาดว่าภายในปีหน้านี้จะมีเข้ามาตีตลาดบ้านเรามากขึ้น เป็นทางเลือกให้ผู้บริโภคปรับพฤติกรรมของตัวเองให้หันมาใช้พลังงานทางเลือกมากขึ้น และสุดท้ายเราก็ทำร้ายโลกกันน้อยลง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *